Weekly Buzz: ⚖️ สัญญาณ 'Market Breadth' ยักษ์ใหญ่กุมชะตาตลาด

12 July 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

หากเราดูเผินๆ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐอาจเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ถือหุ้นสหรัฐทุกคน แต่หากเราเจาะลึกลงไป แน่นอนว่าตามธรรมชาติแล้วจะมีทั้งหุ้นที่ทำผลงานได้ดีและหุ้นที่ทำผลงานได้ไม่ดี โดยเราสามารถวิเคราะห์สัดส่วนดังกล่าวได้ด้วยการใช้ Market Breadth หรือการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนหุ้นที่ปรับตัวขึ้นกับจำนวนหุ้นที่ปรับตัวลง ซึ่งปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวเกือบแตะระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์

ยักษ์ใหญ่กำหนดตลาด

ข้อมูลจาก Morgan Stanley พบว่า มีหุ้นในดัชนี S&P 500 เพียง 35% เท่านั้นที่ทำผลตอบแทนชนะดัชนีได้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า หุ้นส่วนน้อยกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา

ความไม่สมดุลนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อเราพิจารณามูลค่าตลาด โดยปัจจุบัน ดัชนี S&P 500 มีค่า Forward P/E อยู่ที่ 21 เท่า แต่หากเราไม่นับรวมหุ้นขนาดใหญ่สุด 10 อันดับแรก ค่า Forward P/E จะร่วงลงมาอยู่ที่ 16.5 เท่า หมายความว่า การปรับตัวขึ้นของตลาดในช่วงที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากหุ้นยักษ์ใหญ่ในกลุ่มเทคฯ และ AI เพียงไม่กี่ตัว เช่น Nvidia และ Microsoft

Market Breadth ที่แคบ (สถานการณ์ที่มีจำนวนหุ้นที่ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าจำนวนหุ้นที่ปรับตัวลง) สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเติบโตที่ชะลอตัว และเงินเฟ้อที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเผชิญความยากลำบาก ขณะที่ ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจที่มีความเปราะบางมากกว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นและยอดขายที่ชะลอตัวลง

เรื่องนี้ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?

Market Breadth ที่แคบ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อนักลงทุนได้ เพราะหากหุ้นขนาดใหญ่ตัวใดตัวหนึ่งปรับตัวลดลง ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดได้ โดยความเสี่ยงนี้เรียกว่า Concentration Risk หรือความเสี่ยงด้านการกระจุกตัว (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์ที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วอย่างการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจและภูมิภาค จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้

ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวนี้เป็นสาเหตุที่เราเพิ่ม ETF ที่ลงทุนในดัชนี S&P 500 แบบ Equal-weight ในการ Re-optimisation ครั้งล่าสุด ซึ่งแตกต่างจาก ETF แบบ Market-weight ที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า ขณะที่ ETF แบบ Equal-weight จะลงทุนในหุ้นทุกตัวในดัชนีเท่าๆ กัน ทำให้เราสามารถกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐได้ดียิ่งขึ้น

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: กลุ่มเทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อนหุ้นโลกต่อไป

ดัชนี S&P 500 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นครั้งที่ 35 แล้วในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นอย่างมากของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี โดยแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มเทคฯ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นที่เพิ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ได้เช่นกัน (ปรับตัวขึ้นเกือบ 25% YTD) ส่วนดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2022

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์และ AI ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวอย่างที่เรากล่าวไว้ข้างต้น

อย่างไรก็ตาม เราควรตระหนักว่าความเชื่อมั่นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ดัชนี Dow Jones ซึ่งมีบริษัทเทคฯ น้อยกว่าดัชนี S&P 500 และ Nasdaq มีผลการดำเนินงานที่ด้อยกว่าทั้ง 2 ดัชนีค่อนข้างมากในปีนี้

นอกจากเทรนด์ AI แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนตลาดอยู่ในเวลานี้ เช่น เงินเฟ้อที่แม้จะยังอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% ของ Fed แต่ก็มีสัญญาณลดความร้อนแรงลงมาแล้ว ทำให้ตลาดเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยลงเร็วๆ นี้ โดยปัจจุบัน บรรดา Trader ให้โอกาสถึง 70% ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงภายในเดือน ก.ย. นี้  

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓 Simply Finance: ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัว

Concentration Risk หรือความเสี่ยงด้านการกระจุกตัว คือ การมีสัดส่วนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งในพอร์ตมากจนเกินไป ให้ลองเปรียบเทียบพอร์ตของคุณเป็นสวนผลไม้ หากคุณปลูกผลไม้ชนิดเดียว และในปีนั้นสภาพดินฟ้าอากาศค่อนข้างเป็นใจต่อผลไม้ชนิดนี้ คุณก็อาจได้ผลผลิตมากมาย แต่หากเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น คลื่นความร้อนที่ส่งผลเสียต่อผลไม้ชนิดนั้น สวนผลไม้ทั้งหมดของคุณก็อาจตกอยู่ในความเสี่ยง

เช่นเดียวกับการลงทุน ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวจะเกิดขึ้นเมื่อคุณลงทุนในบริษัท กลุ่มธุรกิจ หรือสินทรัพย์ใดมากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้พอร์ตโดยรวมของคุณขาดทุนอย่างหนักได้หากหุ้นหรือสินทรัพย์นั้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยการกระจายการลงทุนที่ดีจะทำให้พอร์ตของคุณมีความยืดหยุ่นมากกว่าและสามารถทนต่อทุกภาวะเศรษฐกิจได้ดีกว่าในระยะยาว


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ