Weekly Buzz: ✂️ แนวทางการลดดอกเบี้ยของ Fed ในปีหน้า

13 December 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ปัจจุบัน ตลาดคาดว่ามีโอกาสเกือบ 100% ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า ทำให้วงจรการลดดอกเบี้ยของ Fed ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่สำคัญกว่านั้น ซึ่งอาจกำหนดทิศทางตลาดในปีหน้า

พยายามหาจุดสมดุล

หลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ตอนนี้พวกเขากำลังก้าวเข้าสู่เฟสใหม่ของการดำเนินนโยบาย ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง (แม้ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2%) และตลาดแรงงานที่เริ่มลดความร้อนแรงลง

แม้ตัวเลข Non-farm Payrolls หรือการจ้างงานนอกภาคเกษตร (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) จะเพิ่มขึ้นเป็น 227,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่แนวโน้มโดยรวมแสดงให้เห็นว่าการจ้างงานเริ่มชะลอตัว ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน พ.ย. ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเดือน ต.ค. เล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อปี 2022 ค่อนข้างมาก สัญญาณเหล่านี้บ่งชี้ว่า Fed ยังสามารถปรับลดดอกเบี้ยลงแบบค่อยเป็นค่อยไปได้

ในท้ายที่สุด เป้าหมายของ Fed คือ การหา ‘Neutral Rate’ หรืออัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นจุดสมดุลที่ดอกเบี้ยไม่สูงจนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว หรือไม่ต่ำจนทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงมากเกินไป ต่างจากวงจรการลดดอกเบี้ยครั้งก่อนๆ ที่มักเริ่มต้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้ Fed มีปัจจัยสนับสนุนที่จะลดดอกเบี้ยในขณะที่เศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้อาจไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายต่างๆ ของ Donald Trump ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้า อาจทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้เงินเฟ้อกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อแนวทางและระยะเวลาในการลดดอกเบี้ยของ Fed 

Key Takeaway

โดยทั่วไปแล้ว การลดดอกเบี้ยมักส่งผลดีต่อหุ้นและตราสารหนี้ แต่ทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยในขณะนั้นด้วย โดยปัจจุบัน การพาเศรษฐกิจลงจอดแบบ ‘Soft Landing’ (การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายโดยไม่กระทบเศรษฐกิจมากเกินไป) ยังดำเนินไปได้ด้วยดี ขณะที่ ผลกระทบเชิงบวกขึ้นอยู่กับความเร็วในการลดดอกเบี้ยของ Fed ดังนั้น แม้ว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ในเดือน ธ.ค. นี้ จะมีความเป็นไปได้สูง แต่ทิศทางของ Fed ในปี 2025 ยังคงไม่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจดำเนินนโยบายที่รอบคอบมากขึ้น

เมื่อดอกเบี้ยลดลงเรื่อยๆ การถือเงินสดก็อาจไม่น่าดึงดูดมากนัก เพราะผลตอบแทนจากบัญชีออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำมักจะปรับตัวลดลงตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ช่วงเวลานี้จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนในการนำเงินสดมาลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี (เช่น พอร์ต General Investing ของเรา😎) เพื่อคว้าโอกาสที่มีอยู่ในตลาด

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ปัญหาเงินฝืดของจีน

ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่กำลังต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ แต่จีนกลับเผชิญปัญหาตรงกันข้าม นั่นก็คือภาวะเงินฝืด โดยวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลงจนทำให้เกิดภาวะเงินฝืดมาตั้งแต่ต้นปี 2023 โดยตัวเลขล่าสุดในเดือน พ.ย. แสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อต่อปีของจีนลดลงมาอยู่ที่ 0.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้ออาจทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อผู้บริโภคคาดว่าราคาสินค้าจะลดลงอีก ก็มักจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง ขณะที่ ธุรกิจต่างๆ มักจะลดการผลิตและการลงทุนลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่ลดลงยังมักส่งผลต่อรายได้ของบริษัท ซึ่งอาจกระทบต่อค่าจ้างแรงงานและ Margin กำไร

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนไม่ได้อยู่นิ่งเฉย เพราะมีการวางแผนเพิ่มการใช้จ่ายจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางของจีนประกาศว่าจะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมและลดปริมาณเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องถือไว้ (RRR) ซึ่งทั้ง 2 มาตรการมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจกลับมากู้ยืมเงิน ลงทุน และใช้จ่ายอีกครั้ง

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓 Simply Finance: Non-farm Payrolls

คำว่า Non-farm Payrolls หรือการจ้างงานนอกภาคเกษตร อาจฟังดูแปลก แต่ความจริงแล้ว ค่อนข้างตรงไปตรงมา เพราะหมายถึงการจ้างงานทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐโดยไม่นับรวมภาคเกษตร โดยตัวเลขที่ออกเป็นประจำทุกเดือนนี้จะไม่นับรวมงานในภาคเกษตร เนื่องจากมีความผันผวนสูงตามฤดูกาล ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมการจ้างงานทั้งหมดดูผันผวนมากเกินไป

ดังนั้น หากคุณอ่านเจอว่า ‘การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง’ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐมีงานใหม่เพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่งในเดือนนั้น โดยไม่นับรวมงานในภาคเกษตรนั่นเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ