Weekly Buzz: ผลกระทบที่แท้จริงของมาตรการภาษีนำเข้าและสิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ 🌎

มาตรการเก็บภาษีนำเข้าแบบ ‘ตอบโต้’ ของประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้นักวิเคราะห์ต้องสำลักกาแฟยามเช้าถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตอนประกาศบังคับใช้ ส่วนครั้งที่สองคือตอนประกาศหยุดพัก 90 วัน สัปดาห์นี้เรามาดูกันว่าภาษีเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อพอร์ตของคุณ และสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้
นโยบายคืออะไร?
เป้าหมายของ Trump คือการลดขาดดุลการค้า หรือส่วนต่างระหว่างสิ่งที่ประเทศอื่นขายให้สหรัฐกับสิ่งที่พวกเขาซื้อกลับไป โดยรัฐบาลสหรัฐหวังว่ามาตรการภาษีนำเข้าจะช่วยดึงให้ผู้ผลิตต่างชาติกลับมาตั้งโรงงานในสหรัฐ และสร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ฯ เพื่อนำไปอุดหนุนนโยบายลดภาษีเงินได้ของชาวอเมริกันในระยะข้างหน้า
สูตรการคำนวณภาษีนั้นง่ายเกินความคาดหมายของทุกคน โดยเป็นการนำตัวเลขเกินดุลการค้าของประเทศนั้นๆ กับสหรัฐ หารด้วยยอดส่งออกทั้งหมด แล้วหารสองอีกครั้งเพื่อให้เป็น ‘อัตราภาษีแบบลด’ (Discounted Rate) ซึ่งแน่นอนว่าภาษีนำเข้าชุดนี้ไม่ยกเว้นให้ใคร แม้แต่เกาะร้างใกล้ทวีปแอนตาร์กติกาหรือฐานทัพทหารในมหาสมุทรอินเดียยังถูกคิดภาษีด้วย
ผลกระทบคืออะไร?
ตลาดหุ้นสหรัฐได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเมื่อสิ้นสุดวันอังคาร (8 เม.ย.) ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงถึง 12% ภายใน 4 วันทำการ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศหยุดพักการเก็บภาษี 90 วัน เมื่อคืนวันพุธ (9 เม.ย.) พร้อมปรับภาษีนำเข้ากลับมาเป็นอัตราเหมารวม 10% (ยกเว้นจีนที่ถูกปรับเพิ่มเป็น 145%) ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 9.5% ทันที สรุปง่ายๆ คือ ตลาดตอนนี้เปราะบางและไวต่อข่าวสารอย่างมาก แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต ช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนอย่างหนักแบบนี้ มักกลายเป็น ‘จุดเข้าลงทุน’ ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในระยะยาว

สำหรับภาคธุรกิจ ทางเลือกมีค่อนข้างจำกัด โดยบริษัทเอกชนจะต้องเลือกระหว่างการขึ้นราคาสินค้าแล้วเสี่ยงยอดขายลดลง หรือจะตรึงราคาไว้แล้วรับผลกระทบจาก Margin กำไรที่หดตัว ขณะที่ การย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาและเงินมหาศาล และไม่มีอะไรรับประกันว่านโยบายจะไม่เปลี่ยนอีกในอนาคต ซึ่งหากมาตรการภาษีนำเข้ายังคงอยู่ต่อไป อาจกลายเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมากขึ้น
มาตรการเหล่านี้อาจเป็นกลยุทธ์ของ Trump ในการกดดันอย่างหนักให้ประเทศคู่ค้ายอมเจรจา แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะยอมแต่โดยดี โดยฝั่งจีนเองก็ ‘ตอบโต้’ ด้วยการเก็บภาษีสหรัฐที่ 84% แล้วในขณะนี้ ซึ่งหากการเจรจาล้มเหลว สงครามการค้าจะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและกระเป๋าเงินของคุณ เพราะการเก็บภาษีสินค้าจากจีนสูงขนาดนี้ อาจทำให้ต้นทุนการผลิต iPhone 1 เครื่อง พุ่งจาก 525 ดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ 850 ดอลลาร์ฯ ตามรายงานของ TechInsights ซึ่งในท้ายที่สุดจะทำให้ตลาดทั่วโลกเผชิญความผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีการตอบโต้กันไปมา
Key Takeaway
เมื่อใดก็ตามที่ตลาดตอบสนองอย่างรุนแรงต่อข่าวพาดหัว อย่าลืมมองภาพรวมให้กว้างขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความผันผวนในตลาด และมันก็จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ความผันผวนคือราคาที่นักลงทุนต้องจ่ายเพื่อโอกาสเติบโตในระยะยาว ซึ่งหากมองย้อนกลับไปหลายทศวรรษ ช่วงที่ตลาดร่วงหนักแบบนี้จะกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น

สำหรับการลงทุนระยะยาว: กลยุทธ์ DCA (Dollar-cost Averaging) ยังคงเป็นวิธีที่เชื่อถือได้มากที่สุดในช่วงตลาดผันผวน เพราะจะช่วยให้คุณซื้อสินทรัพย์ได้มากขึ้นเมื่อราคาลดลง และซื้อน้อยลงเมื่อราคาสูงขึ้น และจะช่วยลดอิทธิพลของอารมณ์ในการตัดสินใจลงทุน และเปลี่ยนช่วงที่ ‘ตลาดร่วงหนัก’ ให้กลายเป็น ‘โอกาสซื้อ’
สำหรับการสร้างสมดุลในพอร์ต: การกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจ และภูมิภาค จะช่วยลดแรงกระแทกเมื่อสินทรัพย์บางตัวเผชิญกับความผันผวน เช่น เมื่อตลาดใดตลาดหนึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้า การมีสินทรัพย์ในตลาดอื่นๆ จะช่วยรักษาสมดุลให้พอร์ตได้ ซึ่งนี่คือหลักการในการออกแบบพอร์ต General Investing ของเรา
สำหรับนักลงทุนที่อยากเพิ่มความปลอดภัย: การถือสินทรัพย์ Defensive เช่น ทองคำ ซึ่งสามารถลงทุนได้ง่ายๆ ผ่าน Flexible Portfolio ของเรา เป็นอีกวิธีที่ช่วยรับมือกับความผันผวนได้ และถ้าคุณต้องการเน้นความปลอดภัยในช่วงเวลาแบบนี้ การพักเงินไว้ในกองทุนตลาดเงิน เช่น พอร์ต USD Cash Plus ก็เป็นอีกทางเลือกที่ให้ทั้งสภาพคล่องและผลตอบแทนสูงกว่าบัญชีฝากประจำทั่วไป
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เมื่อดัชนี S&P 500 ร่วง: นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จรับมืออย่างไร?)
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓 Simply Finance: การขาดดุลการค้า

ประเทศจะเกิด ‘การขาดดุลการค้า’ ก็ต่อเมื่อมีการนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่าที่ส่งออก โดยหลายคนอาจมองว่าการขาดดุลการค้าเป็นเรื่องไม่ดี เหมือนกับการ ‘แพ้’ ประเทศอื่น แต่ในความเป็นจริงค่อนข้างซับซ้อนกว่านั้น เพราะการขาดดุลการค้ามักเกิดจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศเมื่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีอำนาจซื้อมากพอที่จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติ ดุลการค้าเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยของระบบเศรษฐกิจโลกที่ประเทศต่างๆ มีการแบ่งหน้าที่หรือความเชี่ยวชาญผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่หลากหลายในระบบเศรษฐกิจโลก