Weekly Buzz: 🔮 วิธีลดความเสี่ยงในพอร์ตโดยไม่ต้องทำนายอนาคต

11 October 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เพราะมีตัวเลขแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการลงทุนของคุณเคยทำกำไรได้เท่าไหร่ แต่กลับกัน ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากกว่าและมักถูกมองข้าม และความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนแต่ละคนยังแตกต่างกันออกไป โดยการลงทุนที่ดูเหมือนจะเสี่ยงสำหรับคนหนึ่ง อาจดูปลอดภัยสำหรับอีกคนหนึ่ง และการลงทุนแบบเดียวกันก็อาจมีความเสี่ยงไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์

จะลดความเสี่ยงได้อย่างไร?

ก่อนอื่น นักลงทุนต้องตระหนักก่อนว่าทุกการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง โดยเวลาที่คุณคิดถึงผลตอบแทนจากการลงทุนใดๆ ก็ตาม ให้ตรวจสอบด้วยว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหน เช่น ความเสี่ยงที่จะไม่ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง หรือความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนมากที่สุดเท่าไหร่ โดยนักลงทุนอาจลองพิจารณาว่าพอร์ตของตัวเองจะให้ผลตอบแทนอย่างไรเมื่อเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกันทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง อย่างไรก็ตาม หากคุณลงทุนระยะยาว คุณก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี

หนึ่งในวิธีที่ง่ายและได้ผลมากที่สุดในการลดความเสี่ยงให้กับพอร์ต คือ การกระจายการลงทุน ซึ่งไม่ใช่แค่การถือหุ้นหลายๆ ตัว แต่การกระจายการลงทุนที่ดี หมายถึง การถือสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่จะช่วยให้พอร์ตของคุณมีความสมดุลและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในทุกภาวะตลาด (หลักการสำคัญในการบริหารพอร์ต General Investing ของเรา😎) ยกตัวอย่างเช่น การมีตราสารหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Recession  สินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงเงินเฟ้อสูง ทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน หรือหุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต

ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี เมื่อสินทรัพย์หนึ่งมีปัญหา ก็จะมีสินทรัพย์อื่นๆ ที่อาจยังทำผลงานได้ดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่พอร์ตของคุณจะขาดทุนอย่างหนักจากการกระจุกตัวและช่วยให้ผลตอบแทนของคุณไม่ผันผวนมากเกินไป นอกจากนี้ คุณยังไม่ต้องพึ่งพาการทำนายอนาคต แม้ว่าพอร์ตของคุณอาจไม่มีกำไรที่น่าตื่นเต้นเหมือนกับคนที่ลงทุนในหุ้นตัวเดียวแล้วประสบความสำเร็จ แต่คุณก็ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะขาดทุนครั้งใหญ่เมื่อตลาดผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมังคั่งของคุณในระยะยาว

Key Takeaway

เป้าหมายของการลดความเสี่ยงไม่ใช่การกำจัดความเสี่ยงทั้งหมด เพราะการรับความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน แต่สิ่งสำคัญ คือ การบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง โดยคุณอาจพิจารณาว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทจะให้ผลตอบแทนอย่างไรในแต่ละภาวะตลาด จากนั้นก็กระจายการลงทุนให้ดีแล้วปล่อยให้เงินของคุณทำงานต่อไป

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: การจ้างงานในสหรัฐสูงกว่าคาด

ก่อนหน้านี้ Bank of America คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นหากตัวเลข Nonfarm Payrolls (การจ้างงานนอกภาคการเกษตร) ของสหรัฐประจำเดือน ก.ย. อยู่ระหว่าง 125,000-175,000 ตำแหน่ง แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 ต.ค.) ตัวเลขดังกล่าวออกมาเกินคาดอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการจ้างงานนอกภาคการเกษตรถึง 254,000 ตำแหน่ง สูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 150,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ตัวเลขเดือน ส.ค. ยังถูกปรับเพิ่มขึ้นด้วย

ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งกว่าที่คาด ขณะที่ อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4.1% (คาดไว้ที่ 4.2%) และค่าแรงเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งค่าแรงที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการบริโภคที่มากขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภคจึงน่าจะมีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยต่อไปอีกสักระยะ

ทั้งนี้ ตัวเลขแรงงานที่ดีขึ้นบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจลงจอดแบบ ‘Soft Landing’ ได้ (การควบคุมเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับเป้าหมายโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Recession) และน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้อาจทำให้ Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ยน้อยลงในการประชุมเดือนหน้าก็ตาม

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓 Simply Finance: ความเสี่ยง

ความเสี่ยง คือ ความเป็นไปได้ในการสูญเสียเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งคล้ายกับการประเมินสภาพดินฟ้าอากาศ โดยในโลกของการลงทุน นักลงทุนทุกคนคงไม่อยากเผชิญอุปสรรคและคาดหวังผลตอบแทนที่ดีเหมือนวันที่ฟ้าปลอดโปร่ง แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีนักลงทุนคนไหนสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ เช่นเดียวกับฟ้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงวันที่มีพายุโหมกระหน่ำ โดยทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ แม้แต่การเก็บเงินสดไว้ใต้ที่นอนก็มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่จะทำให้มูลค่าเงินของคุณลดลงในระยะยาว


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ