Weekly Buzz: 🏇 รับมือกับความผันผวนของตลาดอย่างไร?

16 August 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ในโลกการลงทุน การรับมือกับความผันผวนของราคาสินทรัพย์นั้นมีความสำคัญพอๆ กับการเลือกสินทรัพย์ให้ถูกตัว เพราะหากคุณจดจ่ออยู่กับความเคลื่อนไหวของตลาดในแต่ละวัน คุณก็อาจแยกไม่ออกว่า ‘ความเสี่ยง’ กับ ‘ความผันผวน’ แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้อาจเบี่ยงเบนให้คุณออกนอกเส้นทางสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้

ความแตกต่างระหว่าง ‘ความผันผวน’ กับ ‘ความเสี่ยง’

  • ความผันผวน หมายถึง การแกว่งตัวของราคาสินทรัพย์ โดยความผันผวนที่สูง หมายความว่า ราคามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ เช่น Sentiment ของตลาดอาจทำให้เกิดความผันผวนได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า สินทรัพย์นั้นมีความเสี่ยงสูงแต่อย่างใด
  • ความเสี่ยง หมายถึง โอกาสที่คุณจะสูญเสียเงินลงทุนอย่างถาวร ซึ่งแตกต่างจากความผันผวนที่มักจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทที่คุณลงทุนเกิดล้มละลาย มูลค่าหุ้นของบริษัทดังกล่าวก็อาจลดลงจนเหลือศูนย์ได้

แม้ทฤษฎีการเงินจำนวนมากมักมองว่าความเสี่ยง คือ ความผันผวน ซึ่งอาจเป็นเพราะความผันผวนสามารถวัดค่าได้และสามารถนำไปคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้ง่ายกว่า แต่จริงๆแล้ว ความผันผวนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความเสี่ยงเท่านั้น และไม่ได้บ่งบอกถึงความเสี่ยงที่แท้จริงที่นักลงทุนต้องเผชิญ

ทำไมความแตกต่างนี้ถึงมีความสำคัญ?

นักลงทุนมักสับสนระหว่างความเสี่ยงกับความผันผวน เพราะหากคุณต้องการลงทุนระยะสั้น แต่กลับเลือกสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง การปรับฐานระยะสั้นที่อาจเป็นเพียงอุปสรรคเล็กน้อยสำหรับนักลงทุนระยะยาว ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงสำหรับคุณ เพราะคุณอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะสั้นและต้องขายสินทรัพย์ในราคาที่ขาดทุน

พูดอีกแง่หนึ่ง การลงทุนในหุ้นอาจมีความเสี่ยงน้อยก็ได้ หากการลงทุนนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของคุณ ในทางกลับกัน หากคุณพยายามหลีกเลี่ยงความผันผวนด้วยการเลือกลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็อาจเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาดได้ เพราะสัดส่วนการลงทุนที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลให้ผลตอบแทนโดยรวมของคุณลดลงโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ การทำความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างความเสี่ยงกับความผันผวน จะช่วยให้คุณมองภาพรวมได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ตลาดต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรง แต่นักลงทุนที่ตระหนักดีว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถาวร จึงกล้าถือหุ้นคุณภาพดีไว้ จนในท้ายที่สุดพวกเขาก็ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาด

จะรับมือกับความผันผวนของตลาดอย่างไร?

หากคุณเข้าใจว่าการปรับตัวลงของตลาดเป็นผลมาจากความผันผวนและไม่ใช่ความเสี่ยงที่แท้จริง เหตุการณ์นี้ก็อาจเปิดโอกาสให้คุณซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีในราคาที่ต่ำลง และมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาด และนี่คือสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาด

  • หยุดเช็คพอร์ตบ่อยๆ เมื่อนักลงทุนจำนวนมากกำลัง Sell-off หรือเทขายสินทรัพย์ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) สีแดงบนหน้าจอของคุณอาจทำให้คุณตื่นตระหนกได้ แต่เราไม่ควรใช้อารมณ์ในการตัดสินใจขายแต่อย่างใด
  • ติดตามข้อมูลแต่ไม่ยึดติด คุณไม่จำเป็นต้องเช็คพอร์ตของคุณตลอดเวลา แต่การติดตามข่าวสารจะช่วยให้คุณทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในตลาด อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือคุณต้องแยกแยะให้ออกระหว่างเสียงรบกวนกับความเสี่ยงที่แท้จริงบนพื้นฐานของข้อมูล และต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในแต่ละวันไม่ได้สะท้อนมูลค่าหุ้นที่แท้จริงในระยะยาว
  • รู้ว่าคุณลงทุนในอะไรและทำไม คุณไม่ควรตัดสินใจลงทุนเพียงเพราะตามเทรนด์ล่าสุด โดยก่อนที่คุณจะลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม คุณก็ควรศึกษาหาข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ ให้ครบถ้วน
  • ยึดมั่นการลงทุนระยะยาว การ Stay Invested มักจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนระยะสั้นของตลาดได้ และด้วยระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานพอ คุณจะสามารถเปลี่ยนความผันผวนของตลาดให้กลายเป็นโอกาสของคุณได้ โดยการลงทุนแบบ Dollar-cost Averaging ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจและภูมิภาค (อย่างพอร์ต General Investing ของเรา😎) จะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างต่อเนื่องในทุกภาวะตลาด 

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓 Simply Finance: Sell-off

Sell-off หรือการเทขายสินทรัพย์ คือ การที่นักลงทุนจำนวนมากตัดสินใจขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ในคราวเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดจากข่าวร้าย ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นเพียงเพราะนักลงทุนตื่นตระหนกไปเอง 

ให้ลองคิดเล่นๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากทุกคนตัดสินใจขายบ้านในวันเดียวกัน ราคาบ้านก็คงจะร่วงลงอย่างมาก เพราะผู้ซื้อจะมีทางเลือกและอำนาจต่อรองมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเทขายสินทรัพย์อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นได้ แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของวัฏจักรตลาด ซึ่งสำหรับนักลงทุนที่มีความอดทน บางครั้งการ Sell-off อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพวกเขาในการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาถูกลง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ