Weekly Buzz: 📝เกาหลีใต้เร่งปฏิรูปภาคเอกชนตามญี่ปุ่น
ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง หลังจากรัฐบาลมีชุดนโยบายปฏิรูปภาคเอกชน ซึ่งผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นเพิ่มการซื้อหุ้นคืน ลดการถือหุ้นไขว้ที่ซับซ้อนและเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ทำให้ในปัจจุบัน เกาหลีใต้กำลังดำเนินนโยบายตามรอยประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกเช่นกัน
เกิดอะไรขึ้น?
ที่ผ่านมา นักลงทุนให้มูลค่าบริษัทเกาหลีใต้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Korea Discount’ ซึ่งสาเหตุที่หุ้นเกาหลีใต้ไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมักถูกเชื่อมโยงกับปัญหาธรรมาภิบาลของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศที่รู้จักกันในนามกลุ่มแชโบล
นอกจากนี้ ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ค่อนข้างต่ำยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์ Korea Discount โดยสถิติในอดีตบ่งชี้ว่า บริษัทเกาหลีใต้ค่อนข้างจำกัดการจ่ายเงินปันผล โดยเป็นประเทศที่จ่ายน้อยที่สุดในภูมิภาค รองจากญี่ปุ่น
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ในปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ริเริ่มโครงการเพิ่มมูลค่าบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นชุดนโยบายที่ผลักดันให้ภาคเอกชนเพิ่มการจ่ายเงินปันผลและผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งคล้ายกับการปฏิรูปที่ญี่ปุ่นได้ทำเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน
ก่อนหน้านี้ ความพยายามในการเพิ่มมูลค่าหุ้นเกาหลีใต้ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่ความพยายามครั้งนี้อาจแตกต่างออกไป เนื่องจากมีตัวอย่างชัดเจนจากความสำเร็จล่าสุดของญี่ปุ่น โดยการปฏิรูปภาคเอกชนทำให้บริษัทญี่ปุ่นสามารถใช้เงินทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ยังมีนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนนโยบายเพิ่มมูลค่าหุ้นครั้งใหม่นี้ได้
Key Takeaways คือ?
หากไม่นับนโยบายปฏิรูปภาคเอกชน เกาหลีใต้ก็ยังเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน เนื่องจากบริษัทเกาหลีใต้มีความพร้อมที่จะได้ประโยชน์จากเทรนด์หลักของโลก ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และ Demand ของเทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากคุณสนใจลงทุนในเกาหลีใต้ Flexible Portfolio ของเราอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เพียง Create พอร์ตใหม่ตั้งแต่ต้น แล้วกดเลือก ‘เกาหลีใต้’ ที่อยู่ภายใต้ ‘หุ้นทั่วโลก’ เท่านี้คุณก็สามารถมีส่วนร่วมกับการเติบโตของเกาหลีใต้ได้โดยตรง
💡 Investors’ Corner: ทฤษฎี ‘Dollar Milkshake’
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เงินสกุลอื่นๆ ก็จะอ่อนค่าไปโดยปริยาย ซึ่งการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดกับเศรฐกิจสหรัฐอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่รัฐมนตรีคลังของประเทศเหล่านี้จะแสดงความกังวลต่อปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ทฤษฎี ‘Dollar Milkshake’ อธิบายถึงสถานการณ์ที่ Demand ของเงินดอลลาร์เพิ่มสูงกว่า Supply ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ดังนั้น ประเทศที่มีหนี้ในสกุลดอลลาร์ก็จะมีต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้จะผิดนัดชำระหนี้
ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ยิ่งเป็นการเพิ่ม Demand ของเงินดอลลาร์ เพราะเงินดอลลาร์มีสถานะเป็น Safe-haven ที่นักลงทุนมักหันไปหลบภัยในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน โดยสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเป็นไปได้ตามทฤษฎีนี้ คือการเกิดวิกฤติหนี้ทั่วโลก ส่งผลให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วและจะกระทบต่อพอร์ตลงทุนจำนวนมาก
แม้การพูดถึงทฤษฎีนี้อาจสร้างความกังวลให้นักลงทุน แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นกลไกการทำงานของเศรษฐกิจโลก โดยเงินดอลลาร์นั้นเป็นสกุลเงินที่เชื่อมโยงระบบการเงินโลกไว้ด้วยกัน และประเทศต่างๆ ยังนิยมใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติต่างๆ
นอกจากนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมัน ยังซื้อ-ขายกันในสกุลดอลลาร์ ดังนั้น ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์จะส่งผลกระทบในวงกว้าง และต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการทั่วโลกก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓Simply Finance: P/B Ratio
P/B Ratio หรือ อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี เป็นเครื่องมือที่นักลงทุนนิยมใช้เพื่อหาหุ้นที่มีราคาอยู่ในระดับต่ำ อัตราส่วนนี้จะคำนวณโดยการนำราคาหุ้นในปัจจุบันมาหารกับมูลค่าตามบัญชี ซึ่งก็คือมูลค่าสุทธิของบริษัท เมื่อบริษัทขายสินทรัพย์และจ่ายหนี้ทั้งหมดแล้ว
P/B Ratio จะช่วยให้นักลงทุนรู้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ซื้อ-ขายกันในราคาถูกหรือแพง ยิ่งอัตราส่วนนี้อยู่ในระดับต่ำมากเท่าไหร่ ก็อาจหมายความว่านักลงทุนได้ซื้อหุ้นในราคาที่ดีมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม P/B Ratio ในระดับต่ำอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีปัจจัยลบบางอย่างที่ทำให้บริษัทดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากตลาด