Weekly Buzz: ⏰ Stay Invested แทนที่จะจับจังหวะตลาด

05 April 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

การจับจังหวะตลาดเป็นสิ่งที่เย้ายวนสำหรับนักลงทุนมาโดยตลอด การขายหุ้นก่อนหน้าที่ตลาดจะปรับตัวลง หรือซื้อหุ้นก่อนที่ตลาดจะปรับตัวขึ้น จะทำให้นักลงทุนได้กำไรสูงสุด แต่ปัญหาสำคัญ คือ วิธีเหล่านี้ทำได้ยากมาก แล้วนักลงทุนควรทำอย่างไร? หาคำตอบได้ใน Weekly Buzz สัปดาห์นี้

ทำไมการจับจังหวะตลาดถึงทำได้ยากมาก?

การจับจังหวะตลาดไม่เพียงต้องรู้ว่าจะขายหุ้นเมื่อไหร่ แต่คุณต้องรู้ด้วยว่าเมื่อไหร่ที่ต้องกลับไปซื้อหุ้นอีกครั้ง และการจะตัดสินใจขายที่จุดสูงสุดหรือซื้อที่จุดต่ำสุดได้อย่างถูกต้องนั้นเกิดขึ้นได้ยากมากแม้แต่ในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว การจับจังหวะซื้อ-ขายให้ได้เพอร์เฟ็คแบบนี้ทุกครั้ง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

มีผลการวิจัยที่จำลองสถานการณ์ในหลายตลาดหุ้น โดยวิเคราะห์ 720 กลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ 3 Indicator ยอดนิยมที่นักลงทุนมักใช้จับจังหวะซื้อ-ขาย คือ P/BV ratio, Mean Reversion และ Momentum ผลปรากฏว่า 690 กลยุทธ์ (96% จากทั้งหมด) ใช้ไม่ได้ผล หมายความว่า การจับจังหวะตลาดไม่สามารถเอาชนะกลยุทธ์เรียบง่ายอย่าง Buy & Hold (ซื้อแล้วถือยาว) ได้ และผลลัพธ์นี้ยังไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนการซื้อ-ขายหรือภาษีต่างๆ ด้วยซ้ำ

สำหรับ 30 กลยุทธ์ที่ใช้ได้ผล งานวิจัยพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากโชคมากกว่า เพราะหากคุณให้กลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่พอ ลองโยนเหรียญไปเรื่อยๆ จะมีบางคนที่สามารถโยนเหรียญออกหัวได้ 10 ครั้งติดกัน นี่คือสาเหตุว่าทำไมกลยุทธ์จับจังหวะตลาดถึงสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในบางครั้ง

Key Takeaways คือ?

มีคำกล่าวในโลกการลงทุนที่ใช้ได้เสมอ คือ ‘ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจาก Timing the Market (จับจังหวะตลาด) แต่เป็น Time in the Market (ระยะเวลาที่อยู่ในตลาด)’ ซึ่ง Key Takeaways ของผลวิจัยนี้ คือ การเอาชนะตลาดยังคงเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้น นักลงทุนควรเลือกที่จะโตไปพร้อมกับตลาด ด้วยการลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก (อย่างพอร์ต General Investing ของเรา😎) 

กุญแจสำคัญยังคงเป็นการ Stay Invested เพราะตามสถิติในอดีต ตลาดจะเป็นขาขึ้นเสมอในระยะยาว แม้ตลอดเส้นทางจะมีช่วงที่ตลาดปรับตัวลงบ้าง แต่การ Stay Invested ในระยะยาวจะทำให้คุณได้รับประโยชน์จากพลังของผลตอบแทนทบต้นได้อย่างเต็มที่

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จีนพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ

เมื่อปีที่แล้ว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในจีน (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) ลดลง 8.0% YoY ซึ่งเป็นสัญญาณว่าความเชื่อมั่นของบริษัทข้ามชาติที่มีต่อจีนนั้นลดลง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจีนได้จัดงานต้อนรับผู้นำธุรกิจจากทั่วโลกเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวช้า รวมถึงปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้นักลงทุนยังคงระมัดระวัง ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงพยายามกระตุ้นให้นักลงทุนกลับมาสนใจจีนอีกครั้ง ด้วยการเชิญเหล่าผู้นำธุรกิจจากต่างประเทศมาร่วมงานประชุมสุดยอดผู้นำเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งรวมถึงการจัดเสวนาโต๊ะกลมระหว่าง Xi Jinping ประธานาธิบดีจีนกับ 15 ผู้นำธุรกิจจากสหรัฐ โดยในงานนี้ มีการให้คำมั่นในหลายเรื่อง เช่น จะปฏิบัติต่อบริษัทต่างประเทศอย่างเท่าเทียม พร้อมยืนยันว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5% ในปีนี้ ซึ่งความพยายามทั้งหมดนี้เพื่อชะลอการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นจีนได้ปรับตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียง โดยเมื่อวันจันทร์ (1 เม.ย.) ดัชนี CSI 300 ซึ่งประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่ของจีน ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 เดือนที่ 1.64% โดยแรงขับเคลื่อนหลัก คือ ข่าวดีในภาคการผลิตที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของ Caixin ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 13 เดือน

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓Simply Finance: การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

เมื่อบริษัทจากประเทศหนึ่งตัดสินใจลงทุนหรือเข้าซื้อธุรกิจหรือสินทรัพย์ในประเทศอื่น สิ่งนี้เรียกว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ซึ่งสามารถเป็นได้ในหลายรูปแบบ เช่น สร้างโรงงานแห่งใหม่ ฝึกอบรมพนักงานท้องถิ่น หรือซื้อหุ้นบริษัทท้องถิ่น โดย FDI จะนำมาซึ่งเงินทุน เทคโนโลยี รวมถึงความเชี่ยวชาญใหม่ๆ มายังเศรษฐกิจของประเทศท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ยังแสดงให้เห็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศด้วย


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ