Weekly Buzz: Trump 2.0 ส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนของคุณ? 🏛️

24 January 2025

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

Donald Trump กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และตลาดก็ตอบรับข่าวนี้ด้วยความคึกคัก มาดูกันว่าประเด็นไหนที่มีความสำคัญจริงๆ สำหรับการลงทุนของคุณ ไม่ใช่แค่ Noise ทางการเมืองเท่านั้น

เรื่องที่ควรจับตามองในยุค Trump 2.0

จุดยืนที่แข็งกร้าวของ Trump ในเรื่องผู้อพยพ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่านโยบายเพิ่มภาษีนำเข้า โดยปัจจุบัน จำนวนแรงงานผิดกฎหมายในสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 5% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งหากเกิดการเนรเทศครั้งใหญ่จริง นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจหดตัวลงถึง 7.4% ภายในปี 2028 ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของรัฐ California ทั้งหมด โดยการลดจำนวนแรงงานเช่นนี้จะยิ่งผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

แม้ท่าทีที่แข็งกร้าวของ Trump โดยเฉพาะกับประเทศจีนเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าจะเป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง แต่เราน่าจะได้เห็นสหรัฐดำเนินนโยบายเรื่องนี้ในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าการเพิ่มภาษีนำเข้าทั้งหมด ซึ่งอาจกระทบผู้บริโภคในประเทศ เพราะการที่ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อสูง ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า มาตรการของ Trump น่าจะเป็นการโจมตีเชิงกลยุทธ์มากกว่าการเปิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ รัฐบาล Trump 2.0 ยังเตรียมลดกฎระเบียบต่างๆ เหมือนในสมัยแรก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ซึ่งอาจหมายถึงการยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการตั้งสถานี LNG และการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบนที่ดินของรัฐบาลกลาง ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศและบทบาทของสหรัฐในข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ

Key Takeaway

แม้ว่าการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของ Trump จะมาพร้อมกับพาดหัวข่าวที่เรียกความสนใจได้มากมาย แต่อย่าลืมว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตและเงินเฟ้อ มีความสำคัญต่อตลาดมากกว่า Noise ทางการเมือง

ทั้งนี้ นโยบายของ Trump อาจทำให้ปัญหาเงินเฟ้อสูงยังยืดเยื้อ ในขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักลงทุนจะนำเงินสดไปลงทุนเพิ่ม เพราะตามสถิติแล้ว ภาวะเศรษฐกิจแบบ ‘Inflationary Growth’ มักจะเป็นประโยชน์ต่อหุ้น ซึ่งมักจะสร้างผลตอบแทนที่ดี เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะช่วยกระตุ้น Demand ขณะที่ ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นก็จะช่วยสนับสนุนรายได้ของภาคเอกชน โดยพอร์ต General Investing ของเราได้มีการปรับ Asset Allocation ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบันไว้ตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว

(คุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล Trump 2.0 ได้ใน 2025 Macro Outlook: ‘FAT’ คือ New Normal)

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จีนปิดปี 2024 อย่างสวยงาม

เศรษฐกิจจีนเติบโตได้เกินกว่าคาดใน Q4/2024 โดยขยายตัวได้ถึง 5.4% YoY ซึ่งเร็วที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี และเพียงพอที่จะทำให้จีนบรรลุเป้าหมายการเติบโตต่อปีที่ 5% โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนใน Q4/2024 จะขยายตัว 5% ซึ่งก็ถือว่าป็นการฟื้นตัวที่มีนัยสำคัญจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 4.6% อย่างไรก็ตาม แม้จะมี Momentum เชิงบวก แต่เศรษฐกิจจีนยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะคำขู่ของ Trump เรื่องการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน

ขณะที่ ตลาดตอบสนองต่อข้อมูลล่าสุดด้วยท่าทีค่อนข้างระมัดระวัง โดยดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้น Blue-chip ของจีน ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง มักถูกมองว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคและความคึกคักทางเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากยังคงรอดูท่าทีต่อไปก่อนว่าตัวเลขจะออกมาในทิศทางไหน

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว อาจช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคและกิจกรรมในภาคธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายยังคงตั้งคำถามว่ามาตรการเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่ โดยรัฐบาลจีนจะยังไม่ประกาศเป้าหมายการเติบโตในปีนี้จนกว่าจะถึงเดือน มี.ค. แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจีนจะตั้งเป้าหมายการเติบโตสำหรับปี 2025 ที่ 5% เหมือนปีที่แล้ว

📖 รอบรู้เรื่องลงทุน: สงครามการค้า

คำว่า ‘สงครามการค้า’ กลายเป็นคำที่ถูกบันทึกในตำราเรียนตั้งแต่ปี 1930 เมื่อสหรัฐออกกฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรท้องถิ่น โดยความเคลื่อนไหวครั้งนั้นได้ลุกลามไปทั่วโลก เมื่อหลายประเทศตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีนำเข้าของตัวเอง ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศลดลงถึง 65% และเปลี่ยนภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้ว ให้กลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก หรือ Great Depression

ในสงครามการค้า ไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะได้อย่างเด็ดขาด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมข้อพิพาททางการค้าในยุคปัจจุบันมักถูกแก้ไขผ่านการเจรจาและองค์กรระหว่างประเทศอย่าง WTO แทนที่จะบานปลายกลายเป็นสงครามเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ