Weekly Buzz: 💪เหตุผลสำคัญที่เศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง

แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐได้ แต่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้กลับแสดงความแข็งแกร่งได้อย่างน่าทึ่งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกุญแจสำคัญ คือ การใช้จ่ายจากภาครัฐที่มีมูลค่ามหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อนกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
การอัดฉีดเงินมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
การใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาถือว่าเยอะมาก โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2020 คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของ GDP สหรัฐในปี 2023 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเงินที่สหรัฐใช้ในแผนฟื้นฟูทวีปยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Marshall Plan) ถึง 4 เท่า

การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเงินจำนวนนี้ช่วยให้ประชาชนและธุรกิจต่างๆ มีเงินสำรองในมือมากขึ้น กระตุ้นผู้บริโภคให้ใช้จ่ายมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนทางเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด
ทุกๆ ดอลลาร์ฯ ที่ใช้จ่ายไปไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ทวีคูณผ่านระบบ Supply Chain เพราะก่อให้เกิดการสร้างงาน เพิ่มรายได้ของประชาชน และทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้ช่วยชดเชยปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดเงินครั้งนี้มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเช่นกัน เพราะทำให้เงินเฟ้อสูงยังยืดเยื้อ เพิ่มแรงกดดันเรื่องค่าจ้างแรงงาน และเพิ่มหนี้สาธารณะของสหรัฐ
เรื่องนี้ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?
ดูเหมือนว่ากลยุทธ์อัดฉีดเงินของรัฐบาลจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งในขณะที่เงินเฟ้อได้ลดความร้อนแรงลงมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่น่าจบลงง่ายๆ เพราะหาก Fed ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วเกินไป ก็อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
การใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อสูงที่ยังยืดเยื้อ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เช่น อาจมีการควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เข้มงวดมากขึ้น และความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไป
ทั้งนี้ แม้นโยบายของภาครัฐจะมีอิทธิพลต่อวัฏจักรทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งมันได้ นี่คือเหตุผลที่เราแนะนำให้นักลงทุน Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจและภูมิภาค (อย่างพอร์ต General Investing ของเรา😎) เพราะการกระจายการลงทุนที่ดีจะช่วยให้พอร์ตของคุณสามารถรับมือกับทุกภาวะเศรษฐกิจได้
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จีนตั้งเป้าโตต่อ
เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ราว 5% ในปีนี้ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับเป้าของปีที่แล้ว แต่เป้าในปีนี้อาจสำเร็จได้ยากกว่า เพราะการเติบโต 5.2% ในปี 2023 เกิดขึ้นได้เพราะฐานที่ค่อนข้างต่ำจากปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19
ใน Q1/2024 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 5.3% YoY ซึ่งสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตได้ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 4.7% ใน Q2 ซึ่งแสดงให้เห็นความท้าทายที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ยังยืดเยื้อ หรือความไม่มั่นคงในตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการชะลอ Demand ภายในประเทศ

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจีนได้เพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทุ่มทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ภาคการผลิตสินค้า High-tech นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังส่งสัญญาณว่าอาจมีนโยบายการเงินสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคารหรือ RRR (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance)
ปัจจุบัน ตลาดกำลังเฝ้ารอผลการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ‘Third Plenum’ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี โดยการประชุมนี้มีความสำคัญมาก เพราะมักจะมีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓 Simply Finance: อัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคาร (RRR)

Reserve Requirement Ratio (RRR) หรือ อัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคาร คือ การกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ธนาคารต้องสำรองไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขามีเงินสดเพียงพอสำหรับการถอนเงินของลูกค้าและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดย RRR เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ธนาคารกลางต่างๆ ใช้เพื่อควบคุมเศรษฐกิจ เพราะเมื่ออัตราส่วนนี้ลดลง ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้