Weekly Buzz: 📈 หุ้นสหรัฐเข้าสู่ภาวะฟองสบู่หรือยัง?

22 March 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Hedge Fund ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อเสียงมาจากหลายๆ เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการคิดค้น ‘Bubble Indicator’ หรือมาตรวัดฟองสบู่ เพื่อวิเคราะห์ว่าหุ้นมีราคาแพงไปหรือยัง? โดยในปัจจุบัน ได้มีการหยิบยกราคาหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven (Alphabet, Amazon, Apple, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla) มาเปรียบเทียบกับช่วงฟองสบู่ดอทคอมในทศวรรษ 1990 Weekly Buzz สัปดาห์นี้จึงอยากนำ Indicator ดังกล่าวมาเปรียบเทียบให้ทุกท่านเห็นข้อแตกต่างของทั้ง 2 เหตุการณ์

‘Bubble Indicator’ บอกอะไร?

Bubble Indicator ประกอบไปด้วย 6 คำถามที่จะช่วยให้นักลงทุนประเมินได้ว่าราคาหุ้นในระดับสูงนี้จะมีความยั่งยืนหรือไม่? เช่น ราคาหุ้นสัมพันธ์กับกำไรของบริษัทหรือไม่? หรือตลาดโดยรวมมี Sentiment อย่างไร? เพราะหากตลาดมีมุมมองที่ Bullish เกินไป บรรดานักลงทุนอาจได้ทุ่มเงินทั้งหมดซื้อหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะขายหุ้นเพื่อทำกำไร มากกว่าที่จะซื้อหุ้นเพิ่ม

ตารางด้านล่างแสดงให้เห็น Bubble Indicator ของหุ้นสหรัฐนับตั้งแต่ปี 1900 โดยจะวัดค่าเป็น Percentile อธิบายง่ายๆ คือ ยิ่ง Percentile สูงขึ้นเท่าไหร่ ก็อาจหมายความว่ามีฟองสบู่เกิดขึ้นมากเท่านั้น โดยในปัจจุบัน แม้ราคาหุ้นสหรัฐจะปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีค่าอยู่ที่ 52 Percentile ซึ่งบ่งชี้ว่าหุ้นสหรัฐยังไม่อยู่ในภาวะฟองสบู่

แม้มูลค่าตลาดหรือ Market Cap (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) ของหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ราคาหุ้นกลุ่มนี้มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน นั่นก็คือกำไรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างมั่นคงกว่าช่วงฟองสบู่ดอทคอมมาก เพราะในช่วงนั้น บรรดาหุ้นเทคโนโลยีไม่ได้มีผลกำไรสนับสนุนเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งหากคุณอยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เราได้เจาะลึกตลาดหุ้นสหรัฐไว้ใน CIO Insights: นอกจากหุ้นเทคโนโลยี ยังมีโอกาสอะไรในตลาดสหรัฐ

Key Takeaways คือ?

ในโลกของการลงทุน มีคำกล่าว Classic ที่นำไปใช้ได้เสมอ นั่นก็คือ ‘ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับ Timing the Market (การจับจังหวะตลาด) แต่เป็น Time in the Market (ระยะเวลาที่อยู่ในตลาด)’ เพราะการจับจังหวะตลาดเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แม้เราจะนำเครื่องมือการประเมินมูลค่าต่างๆ มาใช้เพื่อกำหนดจุดซื้อ-ขายก็ตาม

แล้วกลยุทธ์อะไรที่จะชนะตลาดได้? คำตอบคือการลงทุนแบบ Dollar-Cost Averaging หรือ DCA ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี (เช่น พอร์ต General Investing ของเรา 😎) เพราะคุณจะไม่ต้องเสี่ยงกับการจับจังหวะตลาด และยัง Stay Invested ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มพลังของผลตอบแทนทบต้นในระยะยาว

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: เงินเฟ้อสหรัฐร้อนแรงกว่าคาด

ก่อนหน้านี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงของ Fed ทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2% มากขึ้นจากจุดสูงสุด 9% เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ยังคงร้อนแรงกว่าคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 3.2% YoY

แม้แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหารที่มีความผันผวนสูงเพื่อให้วัดระดับเงินเฟ้อที่แท้จริงได้แม่นยำขึ้น ตัวเลขยังออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ในปัจจุบัน เงินเฟ้อยังคงยืดเยื้อและผันผวน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงขนาดนี้จะไม่สามารถลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ แต่หากเงินเฟ้อยังคงห่างจากระดับเป้าหมายของ Fed พวกเขาก็อาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้ Higher for Longer 

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุด Fed ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 23 ปีต่อไปตามคาด โดยการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้นมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อตลาดหุ้น เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงนี้ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่า Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็วๆ นี้

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓Simply Finance: Market Cap

Market Cap หรือในชื่อเต็มว่า Market Capitalisation คือ การวัดขนาดและมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะคำนวณโดยการนำราคาหุ้นในปัจจุบันของบริษัทนั้นๆ มาคูณกับจำนวนหุ้นทั้งหมดในตลาด

การรู้ Market Cap ถือว่ามีประโยชน์ เพราะเราสามารถนำข้อมูลของบริษัทต่างๆ มาเปรียบเทียบกันได้ แต่อย่าลืมว่า Market Cap เป็นเพียงภาพสะท้อนว่าตลาดให้ราคากับบริษัทนั้นๆ มากแค่ไหน ไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริง โดยมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน เช่น กำไร สินทรัพย์ หรือหนี้สิน (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance สัปดาห์ที่แล้ว)


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ