Weekly Buzz: 🌏 เมื่อ Fed ลดดอกเบี้ย ทั่วโลกจึงต้องขยับ
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “หากสหรัฐป่วย ทั้งโลกก็อาจไม่สบายตาม” ซึ่งไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงหากพิจารณาในแง่เศรษฐกิจและการเงิน เพราะการที่ Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ยถึง 0.5% ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก โดยปัจจุบัน ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกกำลังเริ่มลดดอกเบี้ยตาม Fed
เริ่มวงจรการลดดอกเบี้ยทั่วโลก
ตามสถิติแล้ว วงจรการลดดอกเบี้ยแต่ละครั้งของสหรัฐมักมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป เช่น การลดดอกเบี้ยแบบพอประมาณแค่ 0.75% ในปี 1995 ไปจนถึงการลดอย่างรุนแรงถึง 5% ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2007-2008 ซึ่งความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้ตลาดเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ตลาดเกิดใหม่ในทวีปเอเชีย ตอบสนองต่อนโยบายของ Fed อย่างรวดเร็ว เนื่องจากภูมิภาคนี้มีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ทำให้ธนาคารกลางในประเทศเหล่านี้มีความยืดหยุ่นมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ที่เริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว ส่วนจีนทำมากกว่าแค่การลดดอกเบี้ย โดยมีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
ขณะที่ บางประเทศเลือกแนวทางที่ระมัดระวังมากกว่า เช่น อินเดียและมาเลเซียที่ยังคงใช้นโยบายที่เป็นกลาง เพราะเศรษฐกิจยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เนื่องจากการลดดอกเบี้ยถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน หากลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป เงินเฟ้อก็อาจกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง แต่หากรอนานเกินไป การเติบโตทางเศรษฐกิจก็อาจชะลอตัวลงได้
Key Takeaway
วงจรการลดดอกเบี้ยทั่วโลกครั้งล่าสุดนี้ อาจช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ เพราะเมื่อดอกเบี้ยลดลง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็จะทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้หลายภาคส่วนมีการเติบโต เหตุการณ์นี้จึงอาจเป็นโอกาสให้คุณทบทวนสัดส่วนการลงทุนในแต่ละภูมิภาคอีกครั้ง โดยพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงและเปิดโอกาสให้คุณได้รับประโยชน์จากตลาดโลกในทุกภาวะเศรษฐกิจ
ตัวอย่างเช่น พอร์ต General Investing ของเราที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจและภูมิภาค และยังมีการบริหาร Asset Allocation ตามระดับความเสี่ยงที่คุณเลือกด้วย โดยหากคุณเลือกระดับความเสี่ยงกลางค่อนข้างสูง (SRI 22%) พอร์ตของคุณก็จะมีสัดส่วนของหุ้นสหรัฐราว 27% และราว 28% ในตลาดทั่วโลก เช่น ตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย และญี่ปุ่น แต่หากคุณยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ (SRI 36%) พอร์ตของคุณจะมีสัดส่วนของหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยราว 46% อยู่ในตลาดสหรัฐ และ 47% ในตลาดทั่วโลก
💡 Investors’ Corner: ทำไมตลาดไม่ค่อยมีเหตุผล (และเราต้องทำอย่างไร?)
ในทางทฤษฎี ราคาหุ้นควรสะท้อนข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด หมายความว่าหุ้นไม่น่าจะถูกหรือแพงเกินไป สินทรัพย์ทุกประเภทควรมีราคาที่เหมาะสม แต่ตลาดกลับไม่ได้สมบูรณ์แบบ และบางครั้งก็อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก
ตัวอย่างเช่น ในปี 2009-2022 เมื่อต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจึงเริ่มยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ทำให้ราคาหุ้นเริ่มขยับออกห่างจากปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากนักลงทุนต่างเดิมพันมากขึ้นในสินทรัพย์ที่มีทีท่าว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี
ความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดมีหลายรูปแบบ โดยในโลกที่เชื่อมโยงกันและมีข้อมูลไหลเวียนตลอดเวลา ราคาหุ้นอาจเปลี่ยนแปลงได้จากการ Tweet เพียงครั้งเดียว ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและเท่าเทียมมากขึ้นไม่ได้ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้นเสมอไป ตัวอย่างเช่น กรณีหุ้น GameStop ที่ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะกระแส Social Media ไม่ใช่จากพื้นฐานทางธุรกิจ
แม้การฝืนกระแสตลาดจะเป็นเรื่องยาก แต่โชคมักเข้าข้างนักลงทุนที่มีความอดทน โดยกลยุทธ์ระยะสั้น เช่น Momentum Investing (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) อาจได้ผลในบางครั้ง แต่ Momentum เหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การลงทุนระยะยาวจึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า เพราะตลาดมักมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นเสมอในระยะยาว แม้เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความผันผวนของตลาดในระยะสั้นได้ก็ตาม
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓 Simply Finance: Momentum Investing
Momentum Investing หรือ การลงทุนตามแนวโน้มราคา คือ การลงทุนที่มีแนวคิดว่าสินทรัพย์ใดที่ทำผลตอบแทนได้ดีเมื่อเร็วๆ นี้ จะยังคงทำผลตอบแทนได้ดีต่อไปในอนาคต คล้ายกับเทรนด์แฟชั่น เมื่อสไตล์ไหนเริ่มเป็นที่นิยม ผู้คนจะหันมาซื้อสินค้าสไตล์นั้นเพิ่มขึ้น ทำให้ Demand สูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เหมือนกับเทรนด์แฟชั่นที่อาจเสื่อมความนิยมได้อย่างรวดเร็ว Momentum Investing ก็อาจส่งผลเสียต่อนักลงทุนได้อย่างรวดเร็วเช่นกันหาก Sentiment ของตลาดเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงฟองสบู่ดอทคอมที่นักลงทุนจำนวนมากแห่ซื้อหุ้นเทคโนโลยีเพียงเพราะราคากำลังเป็นขาขึ้น แต่เมื่อ Momentum เริ่มกลับตัว พอร์ตของพวกเขาก็ต้องขาดทุนอย่างหนัก เหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจว่า สิ่งที่ได้รับความนิยมอาจไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนเสมอไป