ทำความรู้จัก ‘เงินเฟ้อ’ เรื่องที่นักลงทุนต้องเข้าใจ
ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกันหมด แต่สงสัยไหมว่า เงินเฟ้อคืออะไร มีกลไกแบบไหน และเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อเราในฐานะผู้ซื้อสินค้า รวมถึงการเป็นนักลงทุนอย่างไร เราลองมาทำความเข้าใจกัน
เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหมือนที่เราเห็นกัน อย่างราคาข้าวของต่างๆ ไม่ว่าจะอาหารสด การขนส่ง ราคาน้ำมัน เสื้อผ้า บ้าน ความบันเทิง ฯลฯ เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นในวงกว้าง ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจ และยิ่งเวลาผ่านไป เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังทำให้กำลังซื้อของเราลดลงด้วย
สรุปง่ายๆ เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น มูลค่าของเงินหรือกำลังซื้อที่เรามีอยู่ในวันนี้จะลดลง และค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตจะเพิ่มขึ้น
เงินเฟ้อเกิดจากอะไร
อัตราเงินเฟ้อ ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ราคาของสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยปกติ เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นเมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น หรือเมื่อความต้องการซื้อ (Demand) เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าของที่มีอยู่ในตลาด (Supply) ก็จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังมีอีกหลายเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เงินเฟ้อเกิดขึ้นได้
ปัจจัยด้านต้นทุนที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (Cost-driven inflation) เช่น
- ราคาวัตถุดิบ (ตั้งต้น) เพิ่มสูงขึ้น
- ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตมีน้อยลง
- ค่าแรงเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อตลาดแรงงานไม่เพียงพอ หรือประสิทธิภาพในการผลิตต่ำลง
- การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของภาครัฐ เช่น ด้านภาษี หรือกฎเกณฑ์ที่กระทบต่อการจัดซื้อ
ปัจจัยด้านความต้องการที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) จะเกิดขึ้นเมื่อ
- คนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ และใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ช่วงที่เศรษฐกิจที่กำลังออกจากภาวะถดถอย คนก็จับจ่ายมากขึ้น
- เงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น เม็ดเงินในระบบเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลง
- อัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของทั้งธุรกิจ และผู้บริโภคลดลง
- เม็ดเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่กระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
- การลดอัตราภาษี ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี เงินเฟ้อแบบ Built-in ซึ่งหมายถึง เงินเฟ้อที่เกิดจากความคาดหวัง เช่น เมื่อแรงงานเชื่อว่า ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต พวกเขาจะเรียกเงินเดือนที่สูงขึ้นในวันนี้ เพื่อให้เขาสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการขึ้นด้วย
เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงหรือต่ำ เราต้องวัดจากอะไร?
เมื่อเรารู้ว่าเงินเฟ้อคือราคาที่เพิ่มขึ้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ระดับเงินเฟ้อในชีวิตเราเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน
เครื่องมือที่น่าจะคุ้นหูมากที่สุดก็คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการใน ‘ตะกร้า’ โดยตะกร้าที่ว่าก็มีของจากหลากหลายหมวด เช่น เสื้อผ้า อาหาร บริการทางการแพทย์ ฯลฯ
แน่นอนว่าตะกร้าของแต่ละประเทศจะมีสัดส่วนสินค้าที่แตกต่างกันและสะท้อนตามการใช้จ่ายของคนในประเทศนั้นๆ ดังนั้นเมื่อเราเห็นตัวเลข CPI ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ก็สะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
บางครั้งเราอาจได้ยินคำว่า Wholesale Price Index (WPI) ที่หมายถึง ดัชนีราคาขายส่งของประเทศ ซึ่งจะวัดราคาสินค้าตอนที่ผลิตหรือขายส่งก่อนจะไปถึงมือลูกค้า นอกจากนี้ยังมี Producer Price Index (PPI) ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ คือ ราคาที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการขั้นกลางในประเทศซึ่งจะสะท้อนเงินเฟ้อในมุมมองของผู้ขาย
แล้วเงินเฟ้อกระทบเราอย่างไร?
แม้ว่า เงินเฟ้อ จะทำให้เรานึกถึง ราคาสินค้าที่แพงขึ้น และมูลค่าเงินที่แท้จริงหรือกำลังซื้อของเราลดลง (เช่น เงิน 1,000 บาทในวันนี้ อนาคตอาจซื้อของได้เพียง 900 บาท)
ที่สำคัญคือ เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน อย่างกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เช่น ลูกหนี้ เจ้าของที่ดิน และทรัพย์สินที่จับต้องได้ (Physical Asset) ยังจะได้ประโยชน์จากราคาของที่เพิ่มขึ้น
ส่วนพนักงานที่เงินเดือนปรับขึ้นตามเงินเฟ้อก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไร แต่กลุ่มที่เจอผลกระทบหนักกว่าก็เช่น คนที่เงินเดือนไม่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ คนที่อยู่ในวัยเกษียณ คนที่ฝากเงินในธนาคารแต่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อ หรือ ผู้ให้กู้ที่คิดดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ก็จะกระทบไปด้วย
แต่ใช่ว่า เงินเฟ้อจะมีด้านลบอย่างเดียว เพราะเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้บริโภคจะใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตาม จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจกำลังเดินหน้าและด้านราคาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
แต่ถ้าถามว่าระดับเงินเฟ้อควรอยู่ที่เท่าไร ถึงจะดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นั่นก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่นักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่าอยู่ที่ราว 2-3% ถือว่าดีต่อเศรษฐกิจ แต่หากเมื่อใดที่เงินเฟ้ออยู่ระดับสูงกว่านั้น ก็ทำให้เราเริ่มเห็นผลกระทบในทางลบมากขึ้น เช่น ผู้บริโภคอาจกักตุนสินค้าเพราะคาดการณ์ว่าในระยะสั้นราคาสินค้าจะสูงขึ้นอีก และทำให้ภาคการผลิตปรับขึ้นราคาตามความต้องการที่สูงขึ้น
แต่หากเงินเฟ้อยังสูงต่อเนื่อง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อยที่จะเจอผลกระทบหนักที่สุด
และหากเกิด เงินเฟ้อสูงขั้นรุนแรง หรือที่เรียกว่า Hyperinflation ซึ่งหมายถึงราคาสินค้าจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ราคาอาหารจานหนึ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็นพันเท่าจากเดือนก่อน แน่นอนว่าเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงขนาดนี้ ก็จะทำให้เกิดการล่มสลายของระบบการเงินและเศรษฐกิจ เช่น
ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงในซิมบับเว ซึ่งเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2007 เพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในวันเดียว และในเดือนพฤศจิกายน 2008 อัตราเงินเฟ้อของซิมบับเวเพิ่มสูงขึ้นถึง 79,000,000,000% ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องเดินทางข้ามชายแดนเพื่อไปซื้อสินค้า ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำและไฟฟ้าเริ่มขาดแคลนถี่ขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายธนาคารกลางซิมบับเวประกาศระงับการใช้เงินดอลลาร์ซิมบับเวไป และหันมาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ กับ แรนด์แอฟริกาใต้แทน
ใครเป็นคนควบคุมเงินเฟ้อ?
ปัจจุบันเมื่อเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ระดับสูง แล้วแต่ละประเทศหน่วยงานใดเป็นคนดูแลเรื่องนี้ หน่วยงานแรกคือ ธนาคารกลางซึ่งเข้าดูแลอัตราเงินเฟ้อผ่านนโยบายทางการเงิน เช่น ธนาคารกลางอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของบุคคลและธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ธนาคารกลางอาจชะลอการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน หรือเข้าไปบริหารอัตราแลกเปลี่ยน
มาตรการเหล่านี้เป็นการควบคุมซัพพลายของเงินในระบบเศรษฐกิจ และถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญของธนาคารกลาง
อีกภาคส่วนที่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ คือ รัฐบาล โดยจะดูแลผ่านการปรับนโยบายอัตราภาษี การให้เงินอุดหนุน (subsidy) หรือการใช้จ่ายขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างการดูแลเงินเฟ้อผ่านนโยบายการคลังที่ส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นและลงในระบบเศรษฐกิจได้
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน-การคลัง จะส่งผลต่อราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ได้ในทันที โดยเฉพาะราคาหุ้นและราคาตราสารหนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากธนาคารกลางตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอเงินเฟ้อ จะทำให้ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่มีความน่าสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ตราสารหนี้ระยะยาว (อายุ 10-30 ปี) จะได้รับผล กระทบมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้นในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
ขณะที่ผลกระทบต่อหุ้นแต่ละประเภทก็ไม่เท่ากัน โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น คือ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มโบรกเกอร์ และกลุ่มบริษัทประกันภัย ที่มีแนวโน้มว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นนี้
ส่วนกลุ่มเสียประโยชน์ คือบริษัทที่เน้นการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม ราคาหุ้นของกลุ่มนี้อาจปรับตัวลดลง จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น
เมื่อเจอเงินเฟ้อ เราต้องบริหารพอร์ตอย่างไร?
เงินเฟ้อและนโยบายรับมือจากภาครัฐ จะส่งผลกระทบต่อคนและสินทรัพย์ต่างๆ แตกต่างกันออกไป ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การกระจายการลงทุนที่ดี โดยคุณต้องมั่นใจว่าพอร์ตของคุณมีสินทรัพย์ที่หลากหลายและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มักเกิดขึ้นเสมอ
ขณะเดียวกันคุณควรมองไปที่เป้าหมายการลงทุนระยะยาวที่จะช่วยให้คุณก้าวข้ามความผันผวนในระยะสั้นไปได้ ซึ่งถ้าหากคุณไม่ต้องการเสียเวลาบริหารพอร์ตเอง พอร์ต General Investing ของเราอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะนอกจากจะกระจายการลงทุนในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลกแล้ว ยังมีเทคโนโลยี ERAA™ ที่ช่วยบริหารและปรับพอร์ตให้อัตโนมัติตามภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ หากคุณมองหาการลงทุนในช่วงที่มีภาวะเงินเฟ้อสูง พอร์ต USD Cash Plus ซึ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่าง ‘พันธบัตรสหรัฐระยะสั้น’ จะช่วยลดผลกระทบจากเงินเฟ้อให้กับพอร์ตของคุณได้ เนื่องจาก Yield ของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ย และยังมีสภาพคล่องสูง ซึ่งคุณสามารถถอนเงินลงทุนส่วนนี้ได้หากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน หรือเมื่อเห็นโอกาสอื่นๆ ในตลาด