เกิดอะไรขึ้น ทำไมค่าเงินทั่วโลกถึงผันผวน?
เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลายประเทศทั่วโลกตอบสนองอย่างไร และทำไมสถานการณ์นี้อาจสร้างความผันผวนในตลาดให้ยิ่งสูงขึ้น
ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาแม้เงินดอลลาร์สหรัฐดูจะชะลอการแข็งค่าแต่โดยภาพรวมยังแข็งค่าอย่างมาก และมีบางช่วงใกล้เคียงกับปี 2002 ขณะที่นับจากต้นปีนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นราว 22% เมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้น 13% เมื่อเทียบกับเงินยูโร และแข็งค่าขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับประเทศหลักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร จาก CIO Insights เดือนสิงหาคมของเรา อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอาจเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง
- ดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นสกุลเงินปลอดภัย (Safe-haven)
- เศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตดีกว่าประเทศอื่นๆ
ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นกลับส่งผลให้สกุลเงินอื่นๆ ต่างอ่อนค่าลง ดังนั้น CIO Insights เดือนนี้เราอยากชวนคุณมาหาคำตอบว่า หลายประเทศตอบสนองกับค่าเงินที่ผันผวนอย่างไร และเราสามารถเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เงินอ่อนค่าลงในอดีตได้อย่างไรบ้าง
สกุลเงินทั่วโลกอ่อนค่าลง หลายประเทศรับมืออย่างไร
จากภาพด้านล่าง จะเห็นว่าหลายสกุลเงินปรับตัวอ่อนค่าลงนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 หลังจาก Fed เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง
สกุลเงินหลักทั่วโลกอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับจากต้นปี 2022
อ้างอิง: StashAway, Bloomberg. ข้อมูล ณ 26 ตุลาคม 2022
เมื่อสกุลเงินต่างๆ ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงจะทำให้หนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ดังนั้น หลายประเทศเริ่มออกมาตรการดูแลหรือแทรกแซงค่าเงินมากขึ้น เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับสกุลเงินในประเทศตนเอง โดยปกติรูปแบบการแทรกแซงค่าเงิน คือ ธนาคารกลางจะซื้อ (หรือขาย) สกุลเงินของประเทศตนเองเพื่อทำให้สกุลเงินของตนปรับแข็งค่าขึ้น (หรืออ่อนค่าลง)
- ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ: Bank of Japan) ใช้เม็ดเงินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบ 24 ปี ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 โดยการแทรกแซงครั้งนี้สามารถพยุงค่าเงินเยนไว้ได้เพียงระยะสั้นและกลับมาอ่อนค่ากลับสู่จุดต่ำสุดใหม่ จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้งเร็วๆ นี้
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 6% เพื่อดูแลไม่ให้สกุลเงินในประเทศของตนอ่อนค่าลง
- ในสหราชอาณาจักร (UK) ค่าเงินปอนด์ไม่เพียงแต่ เจอแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในนโยบายการเงินของอดีตนายกรัฐมนตรี Liz Truss โดยธนาคารกลางอังกฤษ (BOE: Bank of England) จึงต้องออกมาตรการเร่งด่วนในการซื้อตราสารหนี้เพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
กรณีศึกษา: สถานการณ์เงินอ่อนค่าครั้งสำคัญของโลก
เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกัน เมื่อเกิดความผันผวนครั้งใหญ่กับสกุลเงินหลักย่อมส่งผลในวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้น เรามาย้อนดูวิกฤตค่าเงินที่เคยเกิดขึ้นว่าแต่ละเหตุการณ์เป็นอย่างไร
วิกฤตการเงินในเอเชีย (The Asian Financial Crisis)
วิกฤตการเงินในเอเชีย หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ วิกฤตต้มยำกุ้ง เริ่มขึ้นในปี 1997 เมื่อประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทจากที่ก่อนหน้าเคยมีนโยบายการตรึงค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้มีการกู้ยืมในสกุลเงินต่างประเทศค่อนข้างมาก และยังเจอการโจมตีค่าเงินจากนักเก็งกำไรที่เห็นโอกาสทำกำไรจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากเพื่อตรึงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าลงไปอีก (โดยการขายดอลลาร์สหรัฐ และซื้อเงินบาท) ส่งผลให้ทุนสำรองของประเทศเริ่มหมดลง ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติต่างเร่งดึงเงินทุนออกจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย เพราะมองว่าอาจมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์แบบเดียวกัน จึงกลายเป็น Domino Effect หรือเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ที่ทำให้สกุลเงินในเอเชียอ่อนค่าลงทั้งภูมิภาค
หลังจากนั้น IMF เริ่มเข้ามาแทรกแซงผ่านการให้เงินกู้ เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทั้งไทยและหลายประเทศในเอเชีย
วิกฤตค่าเงินปอนด์ในปี 1976 (Sterling Crisis)
กรณีเงินปอนด์ที่อ่อนค่าในปัจจุบัน อาจเห็นความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปี 1976 โดยในช่วงทศวรรษ 1970 เงินปอนด์อ่อนค่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักอย่างอัตราเงินเฟ้อสูง (เข้าสู่ระดับ 25% ในปี 1976) ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และการขาดดุลงบประมาณการคลัง ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงถึง 35% ในช่วงปี 1975-1976
รัฐบาลอังกฤษกังวลว่าเงินปอนด์อาจอ่อนค่าลงไปอีก จึงกู้ยืมเงินจาก IMF กว่า 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (วงเงินสูงสุดที่ IMF อนุมัติให้กู้ ณ ขณะนั้น) ซึ่งต้องแลกมาด้วยการปรับลดการใช้จ่ายของภาครัฐลงอย่างมาก
วิกฤตค่าเงินเกิดจากอะไร
วิกฤตค่าเงินเกิดขึ้นเมื่อสกุลเงินนั้นๆ อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ประเทศนั้นไม่มีกำลังในการใช้จ่าย ทั้งการนำเข้าสินค้า และการชำระหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ (เพราะต้องใช้จำนวนเงินมากขึ้นตามการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น) วิกฤตค่าเงินเป็นสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยาก แต่มักจะเกิดจากปัจจัยเหล่านี้
- เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ เช่น การขาดดุลอย่างต่อเนื่อง, การเติบโตอยู่ในระดับต่ำ, มีอัตราเงินเฟ้อสูง หรือขาดเสถียรภาพในระบบการเงิน
- นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น หรือ มีการโจมตีค่าเงิน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายค่าเงินและทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ อ่อนค่าลง
- นโยบายทางการเงินและการคลังที่เข้มงวด เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับลดค่าใช้จ่ายทางการคลัง ซึ่งนโยบายเหล่านี้มักส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง
วิกฤตค่าเงินรอบนี้แตกต่างจากเดิมหรือไม่
ปัจจัยที่นำไปสู่วิกฤตค่าเงินนั้นคาดเดาได้ยาก แม้เราจะเห็นสถานการณ์ที่คล้ายกัน เช่น หลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงขึ้นจากช่วง Covid-19,การขาดดุลทางการค้าอย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากสถานการณ์ในอดีต:
UK: จับตาหนี้สาธารณะสูง และการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลใหม่
เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์อ่อนค่าลงถึง 20% นับตั้งแต่กลางปี 2021 ซึ่งแม้จะยังไม่อ่อนค่าลึกถึง 35% เหมือนในช่วงปี 1975-1976 แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของระดับหนี้สาธารณะในอังกฤษ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจอังกฤษยังต้องเจอกับความท้าทายคล้ายคลึงกับช่วงทศวรรษที่ 1970 ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ไต่สู่ระดับสูงที่ 10% ในช่วงกันยายน ซึ่งเกิดจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น และในไตรมาส 2 อังกฤษยังขาดดุลการค้าอยู่ที่ 4.3% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าในช่วงสิ้นปี 1974 ที่อยู่ระดับ 3.8% ของ GDP (ช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤตค่าเงินปอนด์ ปี 1976) ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะของอังกฤษในเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 98% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในทศวรรษที่ 1960
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อ Rishi Sunak อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ ทำให้ตลาดคลายความกังวลที่มีต่อแผนเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า แต่รัฐบาลชุดใหม่ยังต้องเผชิญความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารหนี้สาธารณะและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน
อ้างอิง: Guardian, Office for Budget Responsibility และ ONS
ญี่ปุ่น: ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง แต่การแทรกแซงค่าเงินอาจไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาว
ในปีนี้เงินเยนอ่อนค่าลง 22% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักมาจากนโยบายทางการเงินที่สวนทางกันระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดย BOJ ยังรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ Fed เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ราคาพลังงานที่สูงขึ้นทำให้ญี่ปุ่นขาดดุลทางการค้ามากขึ้น ยิ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง
แม้ญี่ปุ่นจะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพยุงไม่ให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีก แต่ยังคงมีทุนสำรองอยู่อีกราว 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงค่าเงินของรัฐบาลอาจช่วยประคองสถานการณ์ได้ในระยะสั้น แต่อาจไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเยนในระยะยาว
เอเชีย: สถานการณ์ดีกว่าต้มยำกุ้ง เพราะหนี้สาธารณะต่ำ - ทุนสำรองสูง
ปีนี้หลายสกุลเงินเอเชียอ่อนค่าลง แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงเหมือนในปี 1997-1998 โดยปัจจุบันหลายประเทศในเอเชียมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการเงินเอเชีย (ต้มยำกุ้ง)
อ้างอิง: StashAway, Bloomberg
ทั้งนี้ บางประเทศของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงเจอศึกหนัก โดยบางประเทศได้รับแรงกดดันจากระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นซึ่งสะสมมาจากช่วงที่เกิด Covid-19 และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น รวมถึงผลจากสกุลเงินท้องถิ่นในประเทศของตนที่อ่อนค่าลง เช่น ในรัสเซียและศรีลังกา ที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นแล้ว
สถานการณ์นี้ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร
เมื่อ Fed ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจยังส่งผลให้สกุลเงินทั่วโลกปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องได้ แต่หลายประเทศอาจมีปัจจัยเฉพาะที่ทำให้ค่าเงินผันผวนได้ เช่น สถานการณ์ปัจจุบันของอังกฤษ
สิ่งสำคัญ คือ แม้ Fed ส่งสัญญาณที่จะโฟกัสเพียงเศรษฐกิจสหรัฐ แต่คณะกรรมการบางส่วน เริ่มให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากนโยบายของ Fed ซึ่งอาจส่งผลต่อตลาดและเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น
เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนและเศรษฐกิจสหรัฐได้ ในท้ายที่สุด Fed อาจต้องชะลอนโยบายการเงินที่เข้มงวดลง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2015-2018 ที่ Fed พักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และหันมาอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแทน หลังจากที่ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น
เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง ตลาดจะเริ่มเห็นจุดสิ้นสุดที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่ในระยะสั้นอาจยังต้องเจอกับความท้าทาย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ และสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
เพื่อรับมือกับความผันผวนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น การลงทุนในพอร์ตที่มีกระจายความเสี่ยงที่ดี และการเก็บเงินสำรองเงินฉุกเฉินไว้เพียงพอ จะช่วยให้คุณพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ โดย StashAway จะยังคงติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนโยบายทางการเงิน ความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก